สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร
514 ถนนหลวง เขตป้อมปราบฯ กรุงเทพมหานคร 10100
โทร.02 -622-5047 โทรสาร.02-221-6029

เรื่อง ขอประชาสัมพันธ์ข่าว

 

ถอดบทเรียนน้ำท่วม ร่วมทบทวนการทำงานช่วงฝ่าวิกฤติใหญ่
สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร จัดการประชุม “ถอดบทเรียนเหตุการณ์มหาอุทกภัย ปี 2554” ขึ้น ณ ห้องประชุมพิทยรักษ์ อาคารสำนักการแพทย์ เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2555โดยมีนายแพทย์สราวุฒิ สนธิแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ให้เกียรติมาเป็นประธานในพิธีโดยการประชุมนี้จัดขึ้นเพื่อเป็นเวทีสำหรับแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในช่วงเหตุการณ์น้ำท่วมของโรงพยาบาลในสังกัด ทั้งยังเป็นโอกาสอันดีที่ทุกโรงพยาบาลจะได้นำความรู้จากการประชุมไปปรับประยุกต์ใช้ในแผนรองรับสถานการณ์อุทกภัยให้มีประสิทธิภาพพร้อมรับมือกับสถานการณ์อุทกภัยที่อาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต

เหตุการณ์มหาอุทกภัยเมื่อปลายปี 54 ที่ผ่านมาได้สร้างความเสียหายให้กับประเทศไทยและกรุงเทพมหานครเป็นอย่างมาก ซึ่งทางสำนักการแพทย์และโรงพยาบาลในสังกัดก็ได้รับผลกระทบจากวิกฤติการณ์นี้ด้วยเช่นเดียวกัน และเนื่องจากมีโรงพยาบาลในสังกัดถึง8 แห่งกระจายอยู่ทั่วทุกพื้นที่ของกรุงเทพมหานครทำให้ปัญหาที่แต่ละโรงพยาบาลต้องประสบพบเจอย่อมแตกต่างกันออกไปด้วยเหตุนี้ทางสำนักการแพทย์จึงจัดการประชุม “ถอดบทเรียนเหตุการณ์มหาอุทกภัยปี 2554”นี้ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ให้แต่ละโรงพยาบาลได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนปัญหาได้พบเจอในช่วงวิกฤติน้ำท่วมเพื่อนำความรู้ที่ได้ไปปรับประยุกต์ใช้ในแผนรองรับสถานการณ์อุทกภัยของโรงพยาบาลตนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

การประชุมจะแบ่งออกเป็นสองช่วงคือ ช่วงเช้า และช่วงบ่าย โดยกิจกรรมช่วงเช้าจะเริ่มต้นด้วยการรับชมวีดีทัศน์เพื่อทบทวนความทรงจำเกี่ยวกับภารกิจที่ทุกคนร่วมก้าวผ่านมาด้วยกัน ก่อนจะเรียนเชิญประธานได้ขึ้นกล่าวเปิดการประชุมพร้อมให้นโยบายและการเตรียมพร้อมเพื่อรองรับสถานการณ์อุทกภัยในอนาคต จากนั้นก็เป็นการนำเสนอประสบการณ์การฝ่าฟันวิกฤติการณ์มหาอุทกภัยของโรงพยาบาลในสังกัดทั้ง 8 แห่ง รวมศูนย์บริการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร (ศูนย์เอราวัณ) ด้วยเป็น 9 แห่ง

ในช่วงบ่ายเป็นกิจกรรมการแบ่งกลุ่มถอดบทเรียนเพื่อให้บุคลากรผู้เข้าร่วมประชุมได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความคิดเห็น รวมถึงให้ข้อเสนอแนะที่จะเป็นประโยชน์ซึ่งกันและกัน โดยจะใช้พื้นที่ความเสี่ยงเป็นเกณฑ์ในการแบ่งกลุ่มได้ดังนี้
  • กลุ่มที่ 1 โรงพยาบาลในพื้นที่ความเสี่ยงต่ำ :โรงพยาบาลกลางและโรงพยาบาลสิรินธร

  • กลุ่มที่ 2 โรงพยาบาลในพื้นที่ความเสี่ยงสูง :โรงพยาบาลตากสินและโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์

  • กลุ่มที่ 3 โรงพยาบาลในพื้นที่นอกแนวคันกั้นน้ำ :โรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์และโรงพยาบาลลาดกระบังกรุงเทพมหานคร

  • กลุ่ม 4 โรงพยาบาลที่ประสบภัยน้ำท่วม : โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินธโร อุทิศ และโรงพยาบาลราชพิพัฒน์

  • กลุ่ม 5 ศูนย์บริการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร (ศูนย์เอราวัณ)

สุดท้ายก็เป็นช่วงการนำเสนอผลถอดบทเรียนโดยจะให้ทั้ง 5 กลุ่มผลัดกันออกมานำเสนอผลการถอดบทเรียนเพื่อให้กลุ่มอื่น ๆ มีโอกาสได้เสนอความคิดเห็นและซักถามข้อสงสัยเกี่ยวกับวิธีการแก้ปัญหาในสถานการณ์ที่แตกต่างกัน ซึ่งถือเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์มากสำหรับการวางแผนรองรับสถานการณ์อุทกภัยให้พร้อมรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ